เมื่อเราอาศัยอยู่ในบ้านมาสักระยะเวลาหนึ่ง ก็อาจมีสมาชิกเพิ่มขึ้น หรือมีความต้องการบางอย่าง ทำให้อยากต่อเติมบ้านจากเดิมที่มีอยู่ซึ่งก็ถือว่าเป็นการขยายบ้านรูปแบบหนึ่ง
การต่อเติมบ้าน ควรมีการปรึกษาวิศวกรเป็นอย่างดีก่อน เพราะการต่อเติมส่วนใหญ่ มักเป็นการต่อเติมบนโครงสร้างบ้านเดิม จึงควรให้วิศวกรมาทำการตรวจสอบรากฐานและโครงสร้างเดิมว่าสามารถรับน้ำหนักในการต่อเติมได้หรือไม่ และเพื่อความปลอดภัย ควรเลือกวัสดุที่ใช้ต่อเติมเป็นวัสดุที่มีน้ำหนักเบา เช่นใช้โครงสร้างเหล็ก หรือใช้ผนังเบา เป็นต้นที่สำคัญ เจ้าของบ้านไม่ควรคิดเอง เออเองว่า เราแค่ต่อเติมเพิ่มพื้นที่ใช้สอยนิดหน่อย คงไม่เป็นไร เพราะโครงสร้างบ้านเดิมนั้นถูกออกแบบโดยคำนวณน้ำหนักของตัวบ้าน จำนวนผู้พักอาศัย เฟอร์นิเจอร์ และข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ เพื่อกำหนดขนาดของเสาเข็มและฐานรากที่ใช้ในการรับน้ำหนักทั้งหมดของตัวบ้านแล้ว
นอกจากนี้ ควรมีการบอกกล่าว หรือเจรจากับเพื่อนบ้านข้างๆ ถ้าไม่มีผลกระทบใด ก็คงไม่เป็นปัญหาต่อเพื่อนบ้าน ซึ่งคุณควรนึกถึงปัญหานี้ด้วย
ระยะถอยร่นตามกฎหมาย
การต่อเติมบ้าน ควรเป็นไปตามกฎหมายเรื่องระยะถอยร่น ดังนี้
– ส่วนของบ้าน ระยะถอยร่นจากแนวเขตที่ดิน กำแพงที่มีช่องลม ช่องหน้าต่าง ช่องแสง บ้านสูงไม่เกิน 9 เมตร ต้องถอยร่นอย่างน้อย 2 เมตร
– บ้านสูงเกิน 9 เมตร ต้องถอยร่นอย่างน้อย 3 เมตร
– กำแพงทึบ (ไม่มีช่องลม ช่องแสง) ทุกชั้นต้องถอยร่น 50 ซม.ถ้าสร้างชิดแนวเขตต้องได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจากเจ้าของที่ดินข้างเคียง
– ระเบียงและเฉลียง เฉลียงชั้นที่ 1 ทำยื่นออกไปชิดแนวเขตได้
– ระเบียงชั้นที่ 2 ต้องทำราวกันตกถอยร่นจากเขตอย่างน้อย 2 เมตร
– ระเบียงชั้นที่ 3 ต้องทำราวกันตกถอยร่นจากเขตอย่างน้อย 3 เมตร และหากต้องการทำระเบียงที่ห่างจากเขตเพียง 50 ซม. ต้องทำราวกันตกในลักษณะเป็นผนังทึบสูง 1.80 เมตรโดยตลอดแนวเขตกันสาด ชั้นที่ 2 และ 3 กันสาดยื่นออกมาจากตัวบ้านและห่างจากเขต อย่างน้อย 50 ซม.
การต่อเติมบ้าน ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ ดังนั้น ควรเป็นไปอย่างเป็นขั้นตอน และถูกกฎหมาย อีกทั้งยังควรมั่นใจว่ามีความจำเป็นที่จะต้องต่อเติมบ้านจริงๆ